Sunday, 2 April 2023
NEWS

โครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านพลาสมาและเทคโนโลยีฟิวชัน ระหว่าง ปตท. และ สทน.

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) (ซ้าย) และ ดร.หาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ รองผู้อำนวยการ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สทน.) (ขวา) ได้ลงนามในข้อตกลงความร่วมมือโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาด้านพลาสมาและเทคโนโลยีฟิวชัน ระหว่าง ปตท. และ สทน.

.

โดยมีผู้บริหารของทั้งสองฝ่ายร่วมเป็นสักขีพยาน การผนึกกำลังของ ปตท. และ สทน. ในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อร่วมมือกันในด้านการวิจัยและพัฒนาพลาสมา เทคโนโลยีฟิวชัน และห้องปฏิบัติการขั้นสูง

.

โดยมุ่งเน้นให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการวิจัยและพัฒนาด้านพลาสมาและเทคโนโลยีฟิวชันในอาเซียนภายในปี พ.ศ. 2570 รวมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านงานวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ระหว่าง ปตท. และ สทน.

.

ทั้งนี้ ความร่วมมือในครั้งนี้ยังสอดรับกับเป้าหมายของกลุ่ม ปตท. ที่มุ่งมั่นแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ที่มีศักยภาพในการบรรลุเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero)

.

เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนในการพัฒนานวัตกรรมพลังงานยั่งยืน ที่พร้อมพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชนและสังคมต่อไป

.

 

#ปตท

เดินหน้าธุรกิจ E-Truck และ E-Mobility Arun Plus จับมือ SANY Leadway Rootcloud ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

 

นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (กลาง) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพื่อแสวงหาโอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจ E-Truck และ E-Mobility ครบวงจร และธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย

.

โดยมี นายเอกชัย ยิ้มสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท อรุณ พลัส จำกัด (Arun Plus) (ที่ 2 จากซ้าย) Mr. Da Rui (ดา รุย) Managing Director Southeast Asia, SANY Heavy Industry (Thailand) Co., Ltd. (SANY) (ที่ 2 จากขวา) คุณ ฉกาจ แสนจัน Chief Executive Officer, Leadway Heavy Machinery Co., Ltd. (Leadway) (ซ้ายสุด) และ Mr. Ho Howe Tian (โฮ ฮาว เทียน) Managing Director ASEAN, Rootcloud Technology Co., Ltd. (Rootcloud) (ขวาสุด) ร่วมลงนาม

.

ความร่วมมือครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อแสวงหาโมเดลธุรกิจที่เหมาะสมสำหรับการผลิต ช่องทางการขาย และการจัดจำหน่าย E-Truck และเทคโนโลยี E-Mobility ในไทยและภูมิภาคอาเซียน สอดคล้องกับแผนการลงทุนในธุรกิจโลจิสติกส์ตามทิศทางของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 และกลยุทธ์ New S-Curve ของ ปตท. ในกลุ่มธุรกิจโลจิสติกส์และโครงสร้างพื้นฐาน

.

ที่มุ่งเน้นการเชื่อมโยงระบบเครือข่ายขนส่งทั้งหมดของประเทศไทยและระบบขนส่งเชื่อมต่อระหว่างประเทศ อาทิ การขนส่งสินค้าทางราง ทางทะเล ทางบก และทางอากาศ E-Truck และ E-Mobility

.

จึงมีส่วนสำคัญยิ่งต่อการดำเนินธุรกิจโลจิสติกส์ ช่วยขับเคลื่อนระบบการขนส่งของไทยไปสู่การเป็นผู้ให้บริการแบบครบวงจรต่อไป

.

มุ่งสู่อนาคตในโลกดิจิทัล Mekha V ธุรกิจของกลุ่มปตท. รับรางวัล Microsoft Partner of the Year 2022

 

 

ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) รับรางวัล Microsoft Partner of the Year 2022 จากนายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด ในโอกาสที่บริษัท เมฆา วี จำกัด (Mekha V)

.

ซึ่งเป็น Flagship ด้าน AI, Robotics & Digitalization ของกลุ่ม ปตท. ได้รับรางวัลสาขา “Intelligent Cloud กลุ่มธุรกิจภาครัฐ ภาคการศึกษา และสาธารณสุข” สะท้อนความสำเร็จในการพัฒนาและเติมเต็มระบบนิเวศการใช้คลาวด์ (Cloud Ecosystem) ของกลุ่ม ปตท. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านดิจิทัล และสร้างโอกาสการเติบโตไปยังธุรกิจที่ไกลกว่าการใช้เทคโนโลยีคลาวด์ ควบคู่กับการพัฒนานวัตกรรมที่หลากหลายบนดิจิทัลแพลตฟอร์มให้ตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ ๆ ตามทิศทางกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจใหม่ของ ปตท.

.

รางวัล Partner of the Year 2022 เป็นรางวัลที่มอบให้พันธมิตรที่นำเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ไปสรรสร้างนวัตกรรม และพัฒนา Solution สำหรับการดำเนินธุรกิจที่หลากหลาย และตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมเพิ่มขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีใหม่ให้กับองค์กร สู่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

.

 

ปตท. ติดอันดับมูลค่าแบรนด์องค์กรสูงสุด และเป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งสูงสุดอันดับที่ 24 ของโลก

 

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปตท. ได้รับการจัดอันดับเป็นหนึ่งใน 500 แบรนด์แรกของโลกที่มีมูลค่าสูงสุดกว่าหนึ่งพันล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งสูงสุดอันดับที่ 24 ของโลก จากการประเมินของ Brand Finance Global บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์และการประเมินมูลค่าแบรนด์ชั้นนำของโลก ตอกย้ำศักยภาพการขับเคลื่อนองค์กรในทุกมิติ

 

Brand Finance Global ได้ประเมิน ปตท. จากการเติบโตของผลการดำเนินงานที่ดีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในธุรกิจการค้าระหว่างประเทศ ธุรกิจปิโตรเคมีและการกลั่น ธุรกิจน้ำมัน รวมถึงการดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมและฟื้นฟูการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผลของการดำเนินงานที่เด่นชัดดังกล่าว ส่งผลให้เกิดมูลค่าแบรนด์ที่แข็งแกร่งทัดเทียมแบรนด์ในระดับสากล

 

Mr. Alex Haigh, Managing Director - Asia Pacific of Brand Finance กล่าวว่า อุตสาหกรรมน้ำมันและก๊าซธรรมชาติได้เข้าสู่ช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงไปเป็นการใช้พลังงานทดแทนในไม่กี่ปีที่ผ่านมาเนื่องจากผลกระทบของโรคระบาดและความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างประเทศ ปตท. ซึ่งเป็นบริษัทผู้นำด้านพลังงานเห็นถึงความสำคัญและเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยปรับกลยุทธ์สู่การดำเนินธุรกิจพลังงานครอบคลุมทุกมิติ บนพื้นฐานของการคำนึงถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

 

นายอรรถพล กล่าวเพิ่มเติมว่า การติดอันดับองค์กรที่มีมูลค่าแบรนด์สูงสุดและเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งสูงสุดของโลก นับเป็นความภาคภูมิใจของ ปตท. ที่แสดงให้เห็นถึงการขับเคลื่อนธุรกิจอย่างแข็งแกร่งในทุกมิติ ภายใต้วิสัยทัศน์ Powering Life with Future Energy and Beyond ขับเคลื่อนทุกชีวิต ด้วยพลังแห่งอนาคต

 

ปตท. พร้อมเป็นพลังสนับสนุนประเทศไทยให้ก้าวหน้าอย่างมั่นคง โดยมุ่งสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับการดูแลสังคม ชุมชน สิ่งแวดล้อมและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน ตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผ่านการพัฒนาธุรกิจพลังงานแห่งอนาคตและการก้าวสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงาน อาทิ ธุรกิจวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต (Life Science) ระบบปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีดิจิทัล (AI & Robotics & Digitalization) เป็นต้น

 

 

โครงการ Battery Technology for All

ปตท. ผนึกกำลัง นูออโว พลัส ลงนามข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ Battery Technology for All พัฒนาเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่ มุ่งสู่ Net Zero
.
เมื่อไม่นานมานี้ นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือ โครงการ Battery Technology for All
.
ซึ่งเป็นการลงนามระหว่าง ดร.ยุทธนา สุวรรณโชติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สถาบันนวัตกรรม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ นายทิติพงษ์ จุลพรศิริดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) ในฐานะ กรรมการ บริษัท นูออโว พลัส จำกัด เพื่อร่วมมือกันในการดำเนินการศึกษาและพัฒนาโครงการ รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเทคโนโลยีด้านแบตเตอรี่
.
การผนึกกำลังของ ปตท. และ นูออโว พลัส ในครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาประเทศ ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้มั่นคงอย่างยั่งยืน ผ่านการดำเนินการในโครงการจัดตั้งศูนย์ทดสอบแบตเตอรี่สำหรับยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาแบตเตอรี่ต้นแบบสำหรับยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก อีกทั้งยังเป็นการประสานความร่วมมือเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
.
โดยมีเจตจำนงในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) และสนับสนุนหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) สอดคล้องตามเป้าหมายของกลุ่ม ปตท. เพื่อเป็นพลังขับเคลื่อนการพัฒนานวัตกรรมพลังงานยั่งยืน ที่พร้อมพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไทย ควบคู่ไปกับการส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ชุมชนและสังคมในอนาคต
 

กลุ่ม ปตท. เปิดงาน PTT Group Tech & Innovation Day 'Beyond Tomorrow' โชว์สุดยอดเทคโนโลยีและนวัตกรรมนำอนาคต

เมื่อวานนี้ (1 มี.ค.66) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และ นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมเป็นประธานและกล่าวปาฐกถาพิเศษด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม ในพิธีเปิดงาน PTT Group Tech & Innovation Day ที่จัดขึ้นภายใต้แนวคิด ‘Beyond Tomorrow: นวัตกรรม นำอนาคต’ โดยมี ศ.พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) พร้อมด้วยผู้บริหารระดับสูงจากกลุ่ม ปตท. หน่วยงานพันธมิตรภาครัฐ และเอกชนชั้นนำร่วมในพิธี ณ ปตท. สำนักงานใหญ่ ถ.วิภาวดีรังสิต
.
นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า PTT Group Tech & Innovation Day ที่จัดขึ้นระหว่างวันที่ 28 ก.พ. - 3 มี.ค. 66  เป็นการผนึกกำลังครั้งสำคัญเพื่อแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยี และการลงทุนด้านนวัตกรรมของกลุ่ม ปตท. ตลอดจนสร้างการรับรู้ทิศทางของเทคโนโลยีในอนาคต และหาโอกาสต่อยอดความร่วมมือทางธุรกิจใหม่ทั้งจากภายในกลุ่ม ปตท. และหน่วยงานภายนอก พร้อมทั้งผลักดันการสร้างนวัตกรรมด้านพลังงานและเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions ภายในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ประกอบด้วย 
.
1.นิทรรศการ แสดงผลงานทางด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และธุรกิจใหม่จาก กลุ่ม ปตท. ใน 7 ด้าน ประกอบด้วย Future Energy, Future Mobility, Life Science, AI, Robotics & Digitalization, Logistics & Infrastructure, Decarbonization และ Innovation Ecosystem ที่มีส่วนในการช่วยสร้างสรรค์และยกระดับคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนในสังคม อาทิ การดูแลสิ่งแวดล้อมจากพลังงานสะอาด ยานยนต์ไฟฟ้า สุขภาพและการแพทย์จากวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต สิ่งอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวันของภาคครัวเรือนและภาคอุตสาหกรรมจากระบบการขนส่ง โครงสร้างพื้นฐาน หุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ที่มีประสิทธิภาพ ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของผู้คนในยุคปัจจุบัน 
.
2.Tech Talk เวทีแลกเปลี่ยนแนวคิด และเทรนด์เทคโนโลยี นวัตกรรมที่น่าจับตาจากภาครัฐที่ขับเคลื่อนนโยบายและผู้นำด้านนวัตกรรมกว่า 23 หัวข้อ 
.
และ 3.Pitching Desk พื้นที่นำเสนอนวัตกรรมและธุรกิจใหม่ของกลุ่ม ปตท. กว่า 30 แบรนด์ ที่พร้อมให้นักลงทุนและผู้สนใจได้ร่วมพูดคุย ต่อยอดและขยายโอกาสการเติบโตสู่ธุรกิจที่ไกลกว่าพลังงานไปด้วยกัน ตลอดจนจะได้พบกับสินค้านวัตกรรมที่พร้อมให้ช้อป ชิมจากกลุ่ม ปตท. อาทิ ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมจาก Innobic, น้ำเชื่อมหญ้าหวาน Natural Nxt, อาหารโปรตีนจากพืช NRPT, ไอศกรีมกะทิสดแท้ Kathisod Station และผลิตภัณฑ์รักษ์โลกจาก MORE 
.
“กลุ่ม ปตท. มุ่งมั่นพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนเดินหน้าขยายการลงทุนในธุรกิจที่มีศักยภาพ เพื่อเป็นอีกหนึ่งกำลังสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศไทยเติบโตเป็นที่ยอมรับทั้งในภูมิภาคอาเซียนและเวทีโลก พร้อมขับเคลื่อนทุกชีวิตด้วยพลังแห่งอนาคตได้ต่อไป” นายอรรถพลกล่าวเสริม
 

เพิ่มความรู้ให้เยาวชน CEO ปตท. บรรยายพิเศษ ด้านพลังงานและภูมิรัฐศาสตร์แก่ยุวทูตคุณธรรม

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เสริมความรู้ด้านพลังงานให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ใน “การประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาแกนนําเด็กและเยาวชนเพื่อเป็นยุวทูตคุณธรรมในศตวรรษที่ 21” ในหัวข้อ “ความมั่นคงทางพลังงานกับภูมิรัฐศาสตร์” โดยกล่าวถึงความเชื่อมโยงระหว่างภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อพลังงานของประเทศและของโลก รวมถึงภารกิจหลักของ ปตท. ในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานในแก่คนไทยท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป
.
ทั้งนี้ การประชุมดังกล่าวจัดขึ้นโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สถานการณ์โลก ให้กับสภาเด็กและเยาวชน ชมรมเด็กและเยาวชนดีเด่นแห่งชาติ เครือข่ายเด็กพิการ ผู้นำเด็กและเยาวชนจากทั่วประเทศ เพื่อนำไปพัฒนาขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมไทยในอนาคต

ปตท. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทางด้านกีฬา

นางกนกพร รอดรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) ให้การต้อนรับและมอบกำลังใจแก่คณะนักกีฬาแบดมินตันทีมชาติไทย จากสโมสรแบดมินตันที ไทยแลนด์ ก่อนเข้าร่วมการแข่งขันรายการ เอเชีย มิกซ์ ทีม แชมป์เปี้ยนชิพ หรือ ทีมผสม   ชิงแชมป์เอเชีย 2023 ในระหว่างวันที่ 14 – 19 กุมภาพันธ์ 2566 ณ เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
.
ปตท. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมทางด้านกีฬา โดยมุ่งสนับสนุนการพัฒนาศักยภาพของนักกีฬาไทยและพร้อมส่งกำลังใจให้สามารถก้าวสู่อันดับโลกตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ อันจะนำมาซึ่งความภาคภูมิใจของประเทศและประชาชนคนไทยต่อไป

ส่งทีมช่วยเหลือ ทีมกู้ภัย กลุ่ม ปตท. เร่งเดินทางช่วยเหลือ เหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในตุรกี-ซีเรีย

วันนี้ (10 กุมภาพันธ์ 2566) - นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่ประเทศตุรกีและซีเรีย เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบรุนแรงเป็นวงกว้าง ประชาชนหลายล้านคนเดือดร้อนจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้น 
.
สมาชิกชมรม PTT Group SEALs กลุ่ม ปตท. ได้แก่ บริษัท เอ็นพีซี เซฟตี้ แอนด์ เอ็นไวรอนเมนทอล เซอร์วิส จำกัด หรือ NPC S&E ซึ่งเป็นบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญในการช่วยเหลือเหตุภัยพิบัติ ได้ส่งทีมปฏิบัติการ พร้อมเครื่องมือและอุปกรณ์ครบชุด เพื่อช่วยเหลือเรื่องการตรวจสอบสารเคมีในจุดเกิดเหตุ ก่อนดำเนินการค้นหาช่วยเหลือกู้ภัย โดยทีมปฏิบัติการเข้าร่วมภารกิจเดินทางไปพร้อมกับกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย ในนามรัฐบาลไทย ภายใต้บันทึกข้อตกลงโครงการ Urban Search and Rescue (USAR) เพื่อให้ความช่วยเหลือกรณีเกิดภัยพิบัติทั้งภายในและต่างประเทศ มีกำหนดปฏิบัติภารกิจเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ตั้งแต่วันที่ 9 – 19 กุมภาพันธ์ 2566
.
กลุ่ม ปตท. ขอแสดงความเสียใจต่อความสูญเสียจากภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในตุรกีและซีเรีย และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าสถานการณ์จะคลี่คลายในเร็ววัน

เคียงข้างในทุกวิกฤต ปตท. สนับสนุนคณะแพทยศาสตร์ ศิริราชฯ มอบ 5 ล้าน สมทบรักษาผู้ป่วยไตวายเรื้อรัง

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ นางนิวดี เจริญสิทธิพันธ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่รัฐกิจสัมพันธ์ และนางกนกพร รอดรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) สนับสนุนงบประมาณแก่คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยไตวายเรื้อรังที่ขาดแคลนทุนทรัพย์จำนวน 5 ล้านบาท โดยมี รศ.นพ.วิศิษฎ์ วามวาณิชย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลศิริราช และ อ.นพ.สุชาย ศรีทิพยวรรณ หัวหน้าโครงการวิจัย สาขาวิชาวักกะวิทยา ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทย์ศิริราชพยาบาล ร่วมรับมอบ
.
ปตท. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพของประชาชน พร้อมสนับสนุนและเคียงข้างคนไทยในทุกวิกฤต และขอเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมการทำงานของทุกภาคส่วน เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ดียิ่งขึ้น

เพิ่มคุณค่าให้ทรัพยากร!! ‘ปตท.’ มุ่งผลักดันพัฒนา ‘ขยะ’ เป็นทรัพยากรคุณภาพ สู่การขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ ของไทย

ปตท. มุ่งพัฒนาศักยภาพ “ขยะ” ต่อยอดเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่า ร่วมขับเคลื่อนนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ 3 มิติ (BCG Model) ของประเทศไทย
.
จากวัสดุเหลือทิ้ง หรือ “ขยะ” ที่ถูกมองข้าม ปตท. โดยทีมนักวิจัย จากสถาบันนวัตกรรม และ บริษัท เอช จี เนกซ์ จำกัด จับมือร่วมพัฒนาต่อยอดจนได้ทางออกที่สมบูรณ์ให้กับผู้ที่อยากเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นทรัพยากรทดแทนที่มีคุณค่า เติมเต็มช่องว่างของการค้นหาทรัพยากรใหม่ ๆ ที่มีอยู่อย่างจำกัดในปัจจุบัน
.
เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จัดพิธีเปิดงานนิทรรศการ “Waste is MORE” โดยมี นายเชิดชัย 
บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นประธานในพิธีเปิดงานนิทรรศการ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อมุ่งเน้นให้เห็นถึงมิติของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ผ่านการพัฒนาศักยภาพของ “ขยะ” ที่ถูกมองว่าไร้ค่า ให้กลายเป็นวัสดุทดแทนที่ “ไม่ไร้ค่า” อีกต่อไป โดย ปตท. พร้อมเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันศักยภาพของนวัตกรรมการวิจัย และการออกแบบของคนไทย ให้เติบโตไปแข่งขันในเวทีระดับโลก ทั้งยังคำนึงถึงความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน
.
นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จากนโยบายของรัฐบาลในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เติบโตและพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยใช้รูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมใน 3 มิติไปพร้อมกัน อันประกอบไปด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ (Bioeconomy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) หรือ BCG ที่มุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า ควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมชุมชนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals หรือ SDGs) ปตท. ตระหนักถึงความสำคัญของการเสริมสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียน ที่สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐ จึงได้จัดตั้งโครงการ MORE ร่วมกับ บริษัท เอช จี เนกซ์ จำกัด โดยมุ่งมั่นพัฒนางานวิจัยและออกแบบวัสดุเหลือใช้ต่าง ๆ ให้สามารถนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยอาศัยนวัตกรรมการพัฒนาวัสดุด้วยกระบวนการ Upcycling วัสดุเหลือใช้ให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณค่าและมูลค่าเพิ่มขึ้น
.
ความตั้งใจของโครงการ MORE โดย ปตท. ในการใช้นวัตกรรมเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นทรัพยากรทดแทน โดยร่วมตีความวัสดุเหลือทิ้ง ได้แก่ เยื่อกาแฟ เศษใบอ้อย ฝุ่นไม้ อะลูมิเนียมฟอยล์จากกล่องยูเอชที ฝุ่นผ้า เศษแผ่น PVC ฝาขวดน้ำ เปลือกไข่ ร่วมกับ 8 นักออกแบบ ได้แก่ MORE, o-d-a, NUTRE JEWELLER, Kitt.ta.khon, mitr., TAKORN TEXTILE STUDIO, Designerd และ Spirulina Society ในการสรรสร้างความเป็นไปได้ใหม่ ๆ ในครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำความมุ่งหวังของ ปตท. ในการผลักดันให้เศรษฐกิจ BCG ของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืน อีกทั้งยังหวังผลให้เกิดการกระจายรายได้และลดความเหลื่อมล้ำให้กับเกษตรกรและชุมชนอีกด้วย โดยนิทรรศการ Waste is MORE นี้ เป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Design Week 2023 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 4 - 12 กุมภาพันธ์ 2566 ณ อาคารไปรษณีย์กลางบางรัก กรุงเทพมหานคร ซึ่งผู้สนใจสามารถติดต่อข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Facebook Page : waste.wasteismore

มาตรการสู้ฝุ่น ปตท. ร่วมแก้วิกฤตฝุ่น PM 2.5 หนุนพนักงาน Work from Home

วันนี้ (3 กุมภาพันธ์ 2566) - นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการ
ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.)  กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครที่มีแนวโน้มสูงขึ้น เนื่องจากสภาพอากาศที่นิ่งและปิด ทำให้ฝุ่นละอองสะสมตัวมากขึ้น และส่งผลต่อสุขภาพของประชาชนในวงกว้าง ปตท. ในฐานะบริษัทพลังงานของคนไทย เราตระหนักถึงปัญหาจึงมีนโยบายให้พนักงานที่ปฏิบัติงานอยู่ในกรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นครราชสีมา พระนครศรีอยุธยา ระยอง ราชบุรี และขอนแก่น 
ปฏิบัติงานในที่พัก (Work from Home) ระหว่างวันที่ 3 – 5 กุมภาพันธ์ 2566 เพื่อร่วมลด
ผลกระทบที่เกิดจากการสัญจร
.
ทั้งนี้ ปตท. ยึดมั่นดำเนินธุรกิจตามแนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการดูแลสังคม 
ชุมชม และสิ่งแวดล้อม พร้อมตั้งเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 (ค.ศ. 2050) ซึ่งเร็วกว่าที่ประเทศกำหนด ด้วยกลยุทธ์เชิงรุก 
“ปรับ เปลี่ยน ปลูก” ปรับกระบวนการผลิต ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการให้ได้สูงสุด เปลี่ยนสู่ธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพิ่มสัดส่วนการลงทุนโดยมุ่งธุรกิจพลังงานสะอาด อาทิ พลังงานหมุนเวียน ระบบกักเก็บพลังงาน และธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้าครบวงจร 
ปลูกป่าเพิ่ม 2 ล้านไร่ โดย ปตท. เป็นแกนหลักในการปลูก 1 ล้านไร่ ภายในปี 2573 
(ค.ศ. 2030) และกลุ่ม ปตท. อีก 1 ล้านไร่ เพื่อเพิ่มปริมาณการดูดซับก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศด้วยวิธีทางธรรมชาติ 

ปตท. พร้อมดำเนินการในทุกมิติเพื่อเป็นส่วนหนี่งในการช่วยลดปริมาณฝุ่นละออง PM 2.5 
ที่ทุกคนกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ และจะอยู่เคียงข้างคนไทยเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อมที่ดีอย่างมั่นคงและยั่งยืน 
 

โอกาสเปิดกว้าง!! กลุ่ม ปตท. ร่วมขับเคลื่อน Soft Power ไทย มุ่งสู่ฮับผลิตคอนเทนต์สร้างสรรค์ของอาเซียน

กลุ่ม ปตท. ร่วมขับเคลื่อน Soft Power ไทย ดันเทคโนโลยีดิจิทัลหนุนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ พร้อมส่งออกคอนเทนต์ไทยคุณภาพสู่เวทีสากล 
.
จับมือพันธมิตรต่อยอดต้นทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทย สนับสนุน ‘ระบบนิเวศสร้างสรรค์’ ผ่านอุตสาหกรรมคอนเทนต์ มุ่งพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้ได้มาตรฐานสากล รองรับการผลิตคอนเทนต์ไทยสู่ตลาดโลก เพื่อพัฒนารายได้และคุณภาพชีวิตคนไทย ยกระดับเศรษฐกิจประเทศให้เติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน
.
3 กุมภาพันธ์ 2566 – นายเชิดชัย บุญชูช่วย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่นวัตกรรมและธุรกิจใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบัน ซอฟท์พาวเวอร์ (Soft Power) เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญในการแพร่ขยายอิทธิพลทางค่านิยม หรือ วัฒนธรรม ที่นานาประเทศผลักดันให้เป็นกลยุทธ์ในการเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) ปตท. เล็งเห็นถึงโอกาสของการต่อยอดแนวคิดดังกล่าว เพื่อรุกเข้าสู่ธุรกิจใหม่ที่ไกลกว่าพลังงานให้พร้อมรับการแข่งขันบนเวทีโลก ด้วยวิสัยทัศน์ “Powering Life with Future Energy and Beyond” จึงจัดตั้งโครงการ Soft Power for Better Thailand ขึ้น เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยยกระดับการพัฒนาซอฟท์พาวเวอร์ไทย หรือ เสน่ห์ไทย ที่เกิดจากวัฒนธรรม ประเพณี และวิถีปฏิบัติอันเป็นภูมิปัญญาของประเทศไทย ที่อยู่ในความสนใจของชาวต่างชาติ ซึ่งนอกจากจะเป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้กลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยแล้ว ยังเป็นการเปิดโอกาสทางธุรกิจที่จะสามารถดึงดูดให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อขยายฐานอุตสาหกรรมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Industry) ในประเทศไทย ที่จะช่วยสนับสนุนนโยบายภาครัฐในการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจไทย หลังสถานการณ์โรคติดเชื้อ COVID-19 ที่แพร่ระบาดไปทั่วโลกได้อีกทางหนึ่งด้วย 
.
“ปตท. จับมือพันธมิตรภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งจาก บริษัท เอไอ แอนด์ โรโบติกส์ เวนเจอร์ส จำกัด (ARV) บริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่มีธุรกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านซอฟท์พาวเวอร์ ผ่านการนำเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับการสร้างสรรค์คอนเทนต์ไทย ภายใต้แนวคิด TECH CREATE FUN คือ การนำเทคโนโลยี (TECH) เช่น Virtual Reality, Augmented Reality, Drone และ Metaverse เป็นต้น มาเสริมศักยภาพในการสร้างสรรค์ผลงาน (CREATE) เช่น ภาพยนตร์ ดิจิทัลคอนเทนต์  หรือ งานศิลปะ เพื่อให้ทั้งผู้สร้างสรรค์ผลงานและผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ที่ดีขึ้น (FUN) รวมไปถึงยังมีความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ ในการจัดกิจกรรมเพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาซอฟท์พาวเวอร์ไทย ด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมคอนเทนต์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล  ทั้งการพัฒนาทักษะบุคลากร การสนับสนุนด้านทรัพยากรและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง โดยมียุทธศาสตร์สำคัญในการดำเนินงาน 3 ด้าน ได้แก่ 
.
1. สร้างคอนเทนต์ไทยสู่สากล ผ่านโครงการ Content Lab โดยร่วมกับสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) (CEA) จัดโปรแกรมฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการการใช้งานเทคโนโลยีสมัยใหม่สำหรับผลิตภาพยนตร์ ซีรีส์ งานโฆษณา งานอีเวนต์ และเกม ให้กับนักเรียน นักศึกษา นักสร้างอนิเมชั่น และบุคคลทั่วไปที่สนใจ เพื่อต่อยอดการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัล (Digital Asset) สำหรับการสร้างสรรค์คอนเทนต์ที่ทันสมัยเทียบเท่ามาตรฐานระดับสากล รวมถึงได้รับประสบการณ์ในการทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีการถ่ายทำชั้นนำของประเทศไทย โดยจะมีกิจกรรม Open House โครงการในวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ที่จะถึงนี้
.
 2. สร้างบุคลากรเพื่อรองรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่านโครงการ TGIF - Technology is Fun โดยนำเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องในการยกระดับซอฟท์พาวเวอร์ จัดแสดงที่มหาวิทยาลัย 11 แห่งทั่วประเทศ ในช่วงเดือนมีนาคม - กันยายน 2566 เพื่อเปิดโอกาสให้นิสิต นักศึกษา ได้มีโอกาสเข้าถึงองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีที่ทันสมัย สร้างแรงบันดาลใจในการสร้างสรรค์ผลงานที่จะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอดเป็นซอฟท์พาวเวอร์ของประเทศได้ในเชิงพาณิชย์ 
.
และ 3. จัดแสดงศักยภาพซอฟท์พาวเวอร์ด้านศิลปะไทย ผ่านนิทรรศการ “Locating the Locals: A Virtual Exhibition by PTT” โดยคัดเลือกผลงานบางส่วนจากการจัดประกวดศิลปกรรม ปตท. ที่เคยได้รับรางวัลตั้งแต่ปี พ.ศ. 2529 นำออกจัดแสดงอีกครั้ง โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาช่วยสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชมบนพื้นที่จัดแสดงศิลปะแบบเสมือนจริง (Virtual Art Gallery) ซึ่งนอกจากการจัดแสดงครั้งแรก ณ หอศิลปวัฒนธรรมเมืองเชียงใหม่ เมื่อช่วงปลายปี 2565 ที่ได้การตอบรับเป็นอย่างดีแล้ว นิทรรศการนี้จะมีการจัดแสดงขึ้นอีกในงาน Bangkok Design Week 2023 ณ River City Bangkok ระหว่างวันที่ 4 - 12 กุมภาพันธ์ 2566 และ Isan Creative Festival 2023 ณ จ.ขอนแก่น ระหว่างวันที่ 1 - 9 เมษายน 2566 ซึ่งผู้สนใจยังสามารถชมนิทรรศการในโลกเสมือนที่ virtualspacebyptt.com ได้อีกด้วย”
.
ความร่วมมือในการสนับสนุนการพัฒนาซอฟท์พาวเวอร์ไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลนี้ นอกจากจะเป็นการเปิดโอกาสให้ ปตท. ทดสอบความเป็นไปได้ในการสร้างธุรกิจและการพัฒนาระบบนิเวศทางธุรกิจสำหรับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์แล้ว ยังเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยยกระดับห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยให้ทัดเทียมสากล ช่วยให้ประเทศไทยมีศักยภาพไปสู่การเป็นศูนย์กลางของการผลิตคอนเทนต์สร้างสรรค์ของอาเซียน ที่จะเพิ่มรายได้ให้ประเทศ เพิ่มการจ้างงานใหม่ในสาขาครีเอทีพและดิจิทัลได้ในระยะยาว อันจะเป็นส่วนหนึ่ง
ของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยให้เติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนต่อไป

โดนใจสายสุขภาพ ปตท. หนุนกิจกรรมเดิน-วิ่ง OLYMPIC DAY 2023 จัดใหญ่ 4 จังหวัด กระจายความสุขสู่ภูมิภาค

ปตท. ส่งเสริมสุขภาพคนไทย พร้อมกระตุ้นเศรษฐกิจ สนับสนุนกิจกรรมเดิน-วิ่ง OLYMPIC DAY 2023 ใน 4 จังหวัด
.
นางกนกพร รอดรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) (ปตท.) (ที่ 2 จากขวา) ร่วมงานแถลงข่าวพร้อมสนับสนุนการจัดกิจกรรม “เดิน - วิ่ง OLYMPIC 2023” ซึ่งจัดโดยคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมี นายพิชัย ชุณหวชิระ รองประธานกรรมการ โอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ประธานอนุกรรมการฝ่ายกีฬาเพื่อมวลชนและสิ่งแวดล้อม ประธานจัดการแข่งขัน  เพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้ประชาชนหันมาออกกำลังกายเพื่อรักษาสุขภาพ
.
ทั้งนี้ ปตท. ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมด้านกีฬา โดยได้สนับสนุนการจัดกิจกรรม เดิน - วิ่ง OLYMPIC มาอย่างต่อเนื่อง พร้อมมุ่งหวังให้คนไทยมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และสร้างแรงบันดาลใจในการออกกำลังกาย รวมทั้งยังเป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของประเทศเพื่อกระจายรายได้สู่ภูมิภาค เนื่องจากในปีนี้กำหนดจัดการแข่งขันใน 4 จังหวัด ได้แก่ จ.น่าน จ.มุกดาหาร จ.เชียงใหม่ และ จ.กาญจนบุรี เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดียิ่งขึ้น

ม.มหิดล – อินโนบิก ผลักดันงานวิจัย ซอสซ่อนผัก นวัตกรรมทางเลือก เพื่อสุขภาพ

สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด ร่วมลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเพื่อผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์จากงานวิจัย “ซอสซ่อนผัก และ ซอสซ่อนผักสูตรเด็ก” นวัตกรรมคิดค้นและพัฒนาโดยนักวิจัย สถาบันโภชนาการ อุดมไปด้วยสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย เช่น วิตามิน แร่ธาตุ เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ และใยอาหาร เป็นทางเลือกให้กับผู้ที่มีปัญหาเรื่องการบดเคี้ยว และเด็กๆที่อาจไม่ชอบรับประทานผักได้มีสารอาหารที่พียงพอรวมถึงยังเป็นทางเลือกสำหรับคนรักสุขภาพอีกด้วย งานวิจัย “ซอสซ่อนผัก” ได้รับการยอมรับโดยได้ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการในต่างประเทศ จากผลการทดสอบในกลุ่มผู้นิยมบริโภคอาหารปิ้งย่าง เพื่อศึกษาการกำจัดสารก่อมะเร็งออกจากร่างกาย ที่มักปนมากับส่วนที่ไหม้เกรียมจาการปิ้งย่าง พบว่าการรับประทานซอสซ่อนผักในปริมาณพอเหมาะ จะสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการได้รับสารก่อมะเร็งได้อีกด้วย
.
ดร. บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และประธานกรรมการ บริษัท อินโนบิก (เอเซีย) จำกัด เปิดเผยว่า อินโนบิก (เอเซีย) ดำเนินธุรกิจโภชนาการทางการแพทย์สำหรับผู้ป่วย และโภชนเภสัช โดยมุ่งเน้นการพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ร่วมกับพันธมิตรและผู้เชี่ยวชาญ เพื่อส่งเสริมดูแลสุขภาพของผู้บริโภคแต่ละกลุ่ม ให้มีโภชนาการที่ดีและป้องกันโรคต่างๆ  ที่เกิดขึ้นจากพฤติกรรมการบริโภคตามวิถีชีวิตสมัยใหม่ ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อร่างกายในอนาคต ทั้งนี้ เรื่องโภชนาการถือเป็นสาเหตุหลักของความมั่นคงทางด้านสุขภาพและอาหารที่อินโนบิกให้ความสำคัญ การร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญที่มีศักยภาพด้านการวิจัยอย่าง สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดลครั้งนี้ เป็นการต่อยอดนวัตกรรมงานวิจัยที่ได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ สู่การสร้างผลิตภัณฑ์ของคนไทย โดยมีแผนการผลิตซอสสูตรต้นตำรับและสูตรสำหรับเด็กที่เหมาะสมในแต่ละช่วงวัย นำร่องจำหน่ายผลิตภัณฑ์บรรจุในรูปแบบซอง ตั้งเป้าออกสู่ตลาดเชิงพาณิชย์ในไตรมาสที่ 3 ปี 2566 เพื่อเพิ่มทางเลือกการทานอาหารให้กับคนไทยทุกวัย ให้ได้รับประโยชน์ ถูกปาก และสะดวกต่อการรับประทาน อีกทั้งวัตถุดิบในการผลิตซอสซ่อนผักนั้น ยังเป็นผลผลิตจากเกษตรกรไทย ถือเป็นการช่วยเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมการเกษตรของประเทศไทย
.
รองศาสตราจารย์ ดร. ชลัท ศานติวรางคณา ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า 
ผลงานวิจัย “ซอสซ่อนผัก” โดยรองศาสตราจารย์ ดร.ทพญ. ดุลยพร ตราชูธรรม อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากมหาวิทยาลัยมหิดล เกิดจากโจทย์วิจัยว่า ปัจจุบันคนไทยมีพฤติกรรมส่วนใหญ่กินผักผลไม้ไม่เพียงพอ คือ กินผักผลไม้ไม่ถึง 5 ส่วนต่อวันหรือไม่ถึง 400 กรัมต่อวัน ตามที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ จากผลสำรวจพบว่ามีคนไทยเพียงประมาณ 4 ใน 10 คน ที่กินผักผลไม้เพียงพอตามเกณฑ์แนะนำในแต่ละวัน ขณะที่เด็กวัยเรียนเพียง 2-3 คน จาก 10 คนเท่านั้นที่กินผักและผลไม้เพียงพอ ซึ่งการจะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้หันมากินผักผลไม้มากขึ้นเป็นเรื่องไม่ง่ายนัก การนำผลิตภัณฑ์อาหารที่คนนิยมรับประทานอยู่แล้วมาพัฒนาต่อยอด เพิ่มคุณค่าทางโภชนาการ ดังเช่น ในรูปของซอสที่สามารถรับประทานได้กับอาหารประเภทต่างๆได้หลากหลาย จึงเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับคนไม่ชอบกินผัก โดยเฉพาะเด็กเล็ก หรือผู้สูงวัยที่มีปัญหาการบดเคี้ยว ซึ่งความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นตัวอย่างความร่วมมือของสถาบันโภชนาการกับภาคเอกชน เพื่อทำให้ผลงานการวิจัยด้านอาหารและโภชนาการสามารถขยายผลสู่วงกว้าง เข้าถึงประชาชนคนไทยได้ง่ายขึ้น 
.
สถาบันโภชนาการ เชื่อมั่นว่าความสำเร็จในการผลิตและการตลาดของผลิตภัณฑ์ทั้งสองในวันข้างหน้า ซึ่งเริ่มต้นจากพิธีในวันนี้ จะเป็นก้าวแรกของการทำงานร่วมกัน ผสานจุดแข็งของทั้งสองฝ่าย นำผลงานวิจัยของสถาบันโภชนาการ ไปสู่ประชาชนอย่างต่อเนื่องต่อไปในอนาคต สร้างทางเลือกให้กับผู้บริโภค 
.
รองศาสตราจารย์ ดร.ยศชนัน วงศ์สวัสดิ์ ผู้อำนวยการบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม กล่าวว่า การลงนามอนุญาตให้ใช้สิทธิเพื่อการผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ซอสซ่อนผักและซอสซ่อนผักสูตรเด็ก อันเป็นผลงานวิจัยของ
รองศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์หญิง ดุลยพร ตราชูธรรม และคณะ ซึ่งประกอบด้วย อาจารย์ นักวิจัย และนักศึกษา 
สถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล นับเป็นอีกก้าวของความสำเร็จจากการนำเอาทรัพย์สินทางปัญญาของมหาวิทยาลัยมหิดล ไปสร้างสรรค์นวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ได้จริงในระดับอุตสาหกรรม โดยการอนุญาตให้ใช้สิทธิ หรือ Licensing 
.
ทรัพย์สินทางปัญญาดังกล่าวแก่ บริษัท อินโนบิก นูทริชั่น จำกัด ซึ่งเป็นผู้นำและคร่ำหวอดในแวดวงธุรกิจโภชนเภสัช (Nutraceutical) ด้านโภชนาการอาหารเสริมเพื่อสุขภาพ
ในนามของสถาบันบริหารจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม หรือ iNT (อิ๊นท์) มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะหน่วยงานที่มีบทบาทด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา มีความมุ่งมั่น ตั้งใจในการส่งเสริมการสร้างความร่วมมือ และผลักดันผลงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมของมหาวิทยาลัยมหิดลให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงทั้งในเชิงพาณิชย์และในเชิงสาธารณประโยชน์ พร้อมทั้งพัฒนาและเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนต่อไป 


© Copyright 2022, All rights reserved. CLOUD47Bangkok
Take Me Top